ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนเก่าน้อยโนนรังวิทยาเสริม เดิมรวมอยู่กับโรงเรียนท่าเพลิงเหมือดแอ่วิทยา (โรงเรียนเบญจคามประดิษฐ์วิทยา) ต่อมาทางราชการเห็นว่าการเดินทางไปมาของนักเรียนลำบาก นายอำเภอจึงมีคำสั่งให้แยกโรงเรียนมาตั้งที่วัดบ้านเก่าน้อย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2482 โดยมี นายคำ วันชูเพลา ครูใหญ่โรงเรียนท่าเพลิงเหมือดแอ่วิทยา เป็นผู้มาทำพิธีเปิดโรงเรียนวัดบ้านเก่าน้อย แต่ยังไม่มีครูมาดำรงตำแหน่งในโรงเรียนนี้

เมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน 2482 ทางราชการได้แต่งตั้ง นายลี ศรีวังสุ มาดำรงตำแหน่งครู โรงเรียนนี้ นายคำ วันชูเพลา จึงมอบหมายงานให้ นายลี ศรีวังสุ เวลานั้นยังไม่มีครูใหญ่ ทางราชการจึงสั่งให้ นายสังข์ทอง นาชัยเวียง มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ขณะนั้นมีนักเรียนทั้งสิ้น 65 คน ชาย 39 คน
หญิง 26 คน

เมื่อ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2493 ได้ย้ายโรงเรียนมาจากศาลาวัดบ้านเก่าน้อย มาตั้งเป็นโรงเรียนเอกเทศที่สวนเกษตรโรงเรียน (โนนตาทวง) ซึ่งทางราชการได้ให้เงินสมทบซื้อสังกะสีมุงหลังคาอาคารเรียนเป็นเงินทั้ง สิ้น 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) โรงเรียนนี้มีพื้นที่เขตบริการ 2 หมู่บ้าน คือบ้านเก่าน้อยและบ้านโนนรัง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2518 ทางราชการได้อนุมัติให้เปลี่ยนนามโรงเรียนใหม่จาก “โรงเรียนบ้านเก่าน้อย” เป็น “โรงเรียนเก่าน้อยโนนรังวิทยาเสริม”

เมื่อ นายลิขิต อนันทวรรณ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ปี พ.ศ. 2501 – 2507 ได้รับเงินสมทบจากทางราชการเป็นเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เพื่อสมทบสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ 7 ห้อง (จัดห้องเรียนได้ 2 ห้องเรียน ตามแบบอาคาร ป.004) เปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เริ่มก่อสร้างเมื่อ 17 มกราคม พ.ศ. 2504 เสร็จเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2504

ปี งบประมาณ 2518 ได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักครู แบบกรมสามัญ จำนวน 1 หลัง งบประมาณ 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

ต่อ มาทางโรงเรียนได้รับงบประมาณตามโครงการ พป.ชต. เพื่อซ่อมแซมและต่อเติมอาคารเพิ่มอีก 2 ห้อง รวมเป็น 3 ห้องเรียน เป็นเงิน 58,092 บาท (ห้าหมื่นแปดพันเก้าสิบสองบาทถ้วน) งบประมาณที่ทางราชการจัดสรรให้ไม่พอในการก่อสร้าง จึงประมูลขายสังกะสีเก่าและเสาได้เงิน 2,880 บาท (สองพันแปดร้อยแปดสิบบาทถ้วน) และขอรับบริจาคจากครู ผู้ปกครองนักเรียน ได้เงินทั้งสิ้น 4,280 บาท (สี่พันสองร้อยแปดสิบบาทถ้วน) เสร็จเรียบร้อยเมื่อ 8 พฤษภาคม 2519 ทำพิธีขึ้นอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

ปี การศึกษา 2520 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ห้องเรียนและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เพียงพอทางโรงเรียนจึงจัดฉายภาพยนตร์การกุศลขึ้นได้เงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) คณะครูผู้ปกครองร่วมกันบริจาคเพิ่มอีก 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน 7,000 บาท (เจ็ดพันบาทถ้วน) ผู้ปกครองนักเรียนบริจาคโต๊ะเก้าอี้ จำนวน 18 ชุด โดยขยายชั้นเรียนชั้นล่างอีก 1 ห้องเรียน โดยมิได้อาศัยงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด

ปี งบประมาณ 2524 ได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารเรียน แบบ ป.1 ฉ. ใต้ถุนสูงขนาด 3 ห้องเรียน ในวงเงิน 430,000 บาท (สี่แสนสามหมื่นบาท) การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2524 และในปีงบประมาณเดียวกันได้รับงบประมาณให้สร้างส้วม แบบกรมสามัญ จำนวน 1 หลัง 5 ที่นั่ง ในวงเงิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

ปี การศึกษา 2529 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนชั้นเด็กเล็ก แต่มีครูสอนไม่ครบชั้น จึงได้ขอความร่วมมือจาก น.ส.มะลัย หันไชยเนาว์ วุฒิ ปวส. มาเป็นครูอาสาสมัคร โดยให้ค่าตอบแทนเดือนละ 480 บาท มีนักเรียน 25 คน ต่อมาได้รับอนุมัติให้เปิดเป็นชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อปีการศึกษา 2537

เมื่อ ปีการศึกษา 2531 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.202/26 ในวงเงินงบประมาณ 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) เรือนเพาะชำ 1 หลัง ราคา 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) และซ่อมแซมอาคารเรียนหลังเก่า (แบบ ป.พิเศษ) โดยการเปลี่ยนเสาคอนกรีต เปลี่ยนพื้นไม้กระดาน และบานประตู ในวงเงินงบประมาณ 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)

ปี งบประมาณ 2533 ได้รับงบประมาณให้ก่อสร้างส้วม แบบ สปช.601/26 ขนาด 4 ที่นั่ง จำนวน 1 หลัง ในวงเงิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) งบประมาณติดตั้งไฟฟ้าในตัวอาคารเป็นเงิน 5,900 บาท (ห้าพันเก้าร้อยบาทถ้วน)

ตั้งแต่ เริ่มก่อสร้างเปิดทำการจนถึงปัจจุบันมีบุคลากรมาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนนี้ จำแนกเป็นครูผู้สอน 32 คน ผู้บริหารโรงเรียน 8 คน

ปัจจุบัน เปิดทำการสอน ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาลปีที่ 1 – 2) ระดับประถมศึกษา (ป.1 – 6) มีครู อาจารย์รวมผู้บริหารโรงเรียนเป็น 13 คน นักการภารโรง 1 คน มีนายสมยศ เหมนวล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน